Tag Archives: เทคโนโลยีไบโอฟลอค

เทคโนโลยี ไบโอฟอค (biofloc) กับการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า


ปัจจุบันโลกมีประชากรประมาณ 7 พันล้านคน และมีความต้องการอาหารประเภทสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าแบบหนาแน่นจึงสูงตามไปด้วย เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจะมีของเสียเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งของเสียจากอาหารที่สัตว์นํ้าไม่กินและของเสียจากการขับถ่ายของสัตว์นํ้า ทำให้มีการสะสมของเสียต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าก็คือการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าแบบยั่งยืน ทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม (ความหมายของคำว่ายั่งยืน คือ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทั้งนํ้าและดิน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ) ดังนั้นเพื่อการพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์นํ้าที่ยั่งยืนจึงมีการนำเทคโนโลยีไบโอฟลอค (biofloc technology) มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า

เทคโนโลยีไบโอฟลอค คือ การใช้ตะกอนจุลินทรีย์ (biofloc) มาช่วยในการย่อยสลายซากของเสีย (แอมโมเนีย) เปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นของดีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไบโอฟลอคสามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติ แต่ถ้านํ้าไม่หมุนเวียนหรือเคลื่อนไหวฟลอคนั้นก็จะตกตะกอนสะสมที่พื้นก้นบ่อกลายเป็นของเสียเช่นเดิม ไบโอฟลอค (biofloc) จะเกิดเมื่อเกิดความสมดุลของอัตราส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจนในนํ้า ถ้ามีการปล่อยของเสียจำพวกสารอินทรีย์ซึ่งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบได้แก่ กรดอะมิโน (amino acid) โปรตีน (protein) ซึ่งจะกลายไปเป็นแอมโมเนียม (NH4+) และสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (แหล่งคาร์บอน) ได้แก่ แป้ง (starch) นํ้าตาล (sugar) เซลลูโลส (cellulose) และพวกกากใย (fiber) ลงไปในนํ้าของเสียนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นตะกอนจุลินทรีย์ (biofloc) ตะกอนจุลินทรีย์ (biofloc) นี้จะเป็นกลุ่มของจุลินทรีย์จำพวกเฮทเทอโรโทรฟิค (Heterotrophic bacteria) ที่มารวมตัวกันเป็นตะกอนแขวนลอย ขนาดของกลุ่มฟลอคอยู่ที่ 0.2-2.0 มิลลิเมตร ถ้ามีการเติมสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตลงไปอีกมันจะไปกระตุ้นให้ไบโอฟลอคดึงไนโตรเจน (แอมโมเนีย) มาใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่มากขึ้นจำนวนจุลินทรีย์ก็จะเพิ่มมากขึ้น ปริมาณแอมโมเนียในนํ้าก็จะลดลง ซึ่งเนื้อเซลล์ใหม่ที่ว่านี้ก็คือสารพวกโปรตีน เมื่อสัตว์นํ้ากินจุลินทรีย์ที่รวมตัวเป็นฟลอคเข้าไปก็เท่ากับว่าสัตว์นํ้าได้กินอาหารที่มีโปรตีนนั่นเอง การใช้กลุ่มฟลอคในการกำจัดแอมโมเนียนี้จะเร็วกว่าการเกิดกระบวนการไนตริฟิคเคชั่น (nitrification) เนื่องจาก heterotropic bacteria จะเจริญเติบโตเร็วกว่า nitrifying bacteria ประมาณ 10 เท่า ทำให้นํ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์นํ้ามีคุณภาพดี การเปลี่ยนถ่ายนํ้าน้อยลงและส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดีตามไปด้วย