Tag Archives: การเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงสัตว์ให้ประสบความสำเร็จนั้นล้วนต้องมีการคำนึงถึงผลกำไร

ปศุสัตว์หมายถึงสัตว์เศรษฐกิจที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น เพื่อใช้งานและเป็นอาหาร สัตว์เศรษฐกิจมีทั้งสัตว์สี่เท้า เช่น โค กระบือ ม้า แพะ แกะ สุกร และ สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง เป็นต้น ในปัจจุบันอาชีพเลี้ยงสัตว์ได้รับความนิยมและมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งในการเลี้ยงสัตว์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ล้วนต้องมีการคำนึงถึงผลกำไรที่สูงกว่าต้นทุนในการผลิต ซึ่งผลกำไรที่สูงขึ้นนั้นส่วนหนึ่งนั้นมาจากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และในการเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้นนั้น มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของพันธุกรรมคือ การมีพันธุ์สัตว์ที่ดี ให้ผลผลิตสูง และในส่วนของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การอยู่ในสถานที่ที่ปลอดจากโรคระบาด ทำให้สัตว์แข็งแรงและให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งอาหารก็มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของสัตว์เป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ และใช้สารเสริมในอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต สารเสริมอาหารสัตว์ ที่นิยมใช้ประเภทหนึ่งคือ สารต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ซึ่งได้มีการนำมาใช้ เป็นเวลานานพอสมควรมาแล้ว เพราะได้มีการค้นพบว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อนั้น หากนำมาใช้ในระดับต่ำกว่าปริมาณที่ใช้ในการรักษาโรค จะมีฤทธิ์เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตได้ แต่เนื่องมาจากการที่สัตว์ได้รับสารต้านจุลชีพในระดับต่ำๆ เป็นเวลานานอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนาของเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถดื้อยาในลำไส้ได้ และยังมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปัจจุบันในต่างประเทศจึงได้มีการวางมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด โดยในประเทศ ในกลุ่มประชาคมยุโรป ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์อีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลหลักในการกีดกันทางการค้า

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาแนวทางใหม่เพื่อผลิตสัตว์ในสภาวะที่ปลอดสารเคมี โดยการหันมาใช้สารเสริมในอาหาร(feed additive) แทน ซึ่งสารเสริมในอาหารที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะนี้ เป็นสารชีวภาพชนิดต่างๆ จากธรรมชาติหลายรูปแบบ ที่อาจนำมาใส่เสริมลงในอาหารสัตว์ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรพื้นบ้าน จุลินทรีย์โพรไบโอติกและสารพรีไปโอติก โดยสารเสริมในอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ลดปริมาณเชื้อก่อโรคในลำไส้ เพิ่มภูมิต้านทานแก่สัตว์ โดยไม่ทำให้มีสารตกค้างที่ทำอันตรายต่อผู้บริโภคได้ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตและหลีกเลี่ยงการเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม สารเสริมอาหารที่น่าสนใจที่จะกล่าวถึง ในที่นี้คือสารพรีไปโอติก มอซ ซึ่งเอามาจากภาษาอังกฤษ คือ MOS ซึ่งเป็นชื่อย่อของน้ำตาลโมเลกุลสั้น ประเภทหนึ่งคือ Manno Oligosaccharides

การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย

1773_1
ปัจจุบันมีการพัฒนาสัตว์เศรษฐกิจใหม่ขึ้นอีกหลายชนิดทั้งจากการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เช่น หมูป่า และการนำเข้ามาจากต่างประเทศ นกกระจอกเทศ ซึ่งสามารถนำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ โดยมีแนวโน้มจะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต เพราะสามารถนำทุกส่วนมาทำเป็นผลผลิตขายได้ การเลี้ยงสัตว์จัดได้ว่าเป็นอาชีพที่ทำกันอย่างแพร่หลายกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย สัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ทั้งเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยการเลี้ยงสัตว์สามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพและใช้เทคโนโลยีเทียบเท่ากับนานาประเทศ เนื่องจากผลผลิตที่ผลิตได้จากประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อความต้องการบริโภคและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพตามมาตรฐานทั้งจากยุโรปหรืออเมริกา

สัตว์เลี้ยงจำพวกโคกระบือ สุกร ไก่และเป็ด ล้วนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าจำหน่ายเพื่อการบริโภค เนื้อ นม ไข่ โดยตรงแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายชนิดทำเป็นเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ได้หลาย ๆประเภท สินค้าบางชนิดมีปริมาณมากจนกระทั่งสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย นับว่าผลผลิตจากสัตว์นี้ช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ประการหนึ่ง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรจะมีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากทิศทางของระบบเศรษฐกิจไทยมุ่งไปสู่การประกอบการด้านอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์นับเป็นอาชีพที่สำคัญของเกษตรกรไทย

หลักการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย

1.ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณและกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภค
2.ต้นทุนการผลิต เป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด รวมทั้งแหล่งการเงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการ ราคาต้นทุนสูงแต่ผลผลิตต่ำหรือไม่แน่นอนก็ไม่ควรตัดสินใจ
3.ความรู้และทักษะของผู้ผลิต เป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตต้องมีทักษะและเทคนิคชั้นสูงรวมทั้งเทคโนโลยีจึงจะไปได้รอด ความรู้และวิชาการสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็น
4.เปิดโลกทัศน์การเลี้ยงสัตว์ตัวใหม่ ถ้าเป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรก และมีตลาดรองรับ โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จเป็นไปได้สูงมาก
5.สถานที่เลี้ยงสัตว์ต้องเหมาะสมกับสัตว์แต่ละประเภท รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆด้วย